ตามที่ระบบการศึกษาจีนกำหนดให้นักเรียนต้องสอบตั้งแต่ ป.1 ไปจนถึงสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมื่ออายุ 18 ปีเรียกว่า “สอบเกาเข่า” ที่คะแนนเดียวสามารถตัดสินอนาคตของเด็กได้
กระทรวงศึกษาธิการจึงออกระเบียบใหม่ ระบุว่า....
การสอบถี่เกินไปสร้างภาระและเพิ่มแรงกดดันให้กับนักเรียน ยิ่งการกดดันเด็กตั้งแต่อายุน้อยๆ ยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกาย เห็นควรห้ามสอบข้อเขียนกับเด็กวัย 6-7 ขวบ ส่วนเด็กวัยอื่นในการศึกษาภาคบังคับให้สอบเทอมละ 1 ครั้ง เด็กมัธยมต้นอนุญาตให้สอบกลางภาคแบบจำลองได้ หลังจากเคยห้ามสั่งการบ้านเด็ก ป.1-ป.2 มาแล้ว และจำกัดการบ้านเด็กมัธยมต้นไม่ให้ใช้เวลานานเกินหนึ่งชั่วโมงครึ่งต่อคืน
มาตรการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาจีน รวมถึงการจัดการโรงเรียนกวดวิชาที่ผู้ปกครองมองว่า เป็นช่องทางเพิ่มโอกาสทางการเรียนให้ลูกๆ
เมื่อปลายเดือน ก.ค. จีนสั่งสถาบันกวดวิชาเอกชนทุกแห่งห้ามทำกำไร ห้ามสอนพิเศษวิชาหลักช่วงเสาร์-อาทิตย์และวันหยุด ส่งผลสะเทือนถึงภาคธุรกิจมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ เป้าหมายก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในประเทศ ที่ผู้ปกครองชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งยินดีจ่ายเงินปีละไม่น้อยกว่า 100,000 หยวนให้สำนักติวเอกชนเพื่อให้ลูกได้เข้าเรียนโรงเรียนดัง หลายคนหาบ้านอยู่แถวโรงเรียนดังทำให้ราคาบ้านสูงขึ้นด้วย
คลาวเดีย หวัง หุ้นส่วนโอลิเวอร์ ไวแมน บริษัทที่ปรึกษาด้านการศึกษาชื่อดังในเซี่ยงไฮ้ ระบุ “ไม่มีประเทศไหนมีวัฒนธรรมการติวเข้มข้นเท่าจีนอีกแล้ว”
และเนื่องจากประชากรจีนเติบโตต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ทางการจีนจึงยกเลิกจำกัดการมีบุตรไว้เพียง 2 คน เมื่อไม่กี่เดือนก่อน และต้องการเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ปกครองมีลูกมากขึ้น
สัปดาห์ก่อนทางการกรุงปักกิ่งประกาศว่า ครูต้องย้ายโรงเรียนทุกๆ 6 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้คนเก่งมากระจุกกันอยู่ในบางโรงเรียน วันนี้กระทรวงศึกษาธิการย้ำว่า ห้ามโรงเรียนทำห้องเรียนพิเศษสำหรับเด็กเก่ง
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ชาวจีนหลายคนยังมองว่า การศึกษาช่วยยกระดับชนชั้นทางสังคม การสอบเกาเข่าเป็นหนึ่งในไม่กี่วิธีที่นักเรียนยากจนในชนบทสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการทำงานเมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังได้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
Comments